นิราศสุพรรณ โดย สุนทรภู่ ตอนที่ 1 แกะรอย

สุนทรภู่เมื่อหลงใหลสิ่งใดก็จะทำจนถึงที่สุดไม่ทำอะไรอย่างครึ่งๆ กลางๆ ดังเรื่องเกี่ยวกับแม่จันคนที่ท่านรัก แม้จะถูกขัดขวางท่านก็ไม่ละความพยายาม แม้มีเหตุจำต้องห่างกันไปก็เพียรติดต่อสานสัมพันธ์อยู่หลายปีจนได้แต่งงานกัน และอีกสิ่งหนึ่งที่สุนทรภู่หลงใหลก็คือ การเที่ยวหาขุมทรัพย์ตามลายแทง หายาอายุวัฒนะ และเล่นแร่แปรธาตุให้ได้ทองคำมีค่า นี่เป็นเหตุให้ระหว่างที่ท่านบวชท่านจึงได้เดินทางไปสุพรรณ และได้บันทึกเป็นโคลงนิราศสุพรรณขึ้น

สุนทรภู่เริ่มบวชหลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้เสด็จสวรรคตลง

"…………………………………….ไปพิศศรีโลกลายแทงแสวงหา
ลงหนองน้ำปล้ำตะเข้หากเทวดา     ช่วยรักษาจึงได้รอดไม่วอดวาย" (รำพันพิลาป)

แต่มักไม่สำเร็จ

"มาตามลายหมายลุอายุยืน          ผ้าห่มผืนหนึ่งไม่ติดอนิจจัง"

ในบทแรกของ นิราศสุพรรณ สุนทรภู่ว่าไว้ดังนี้

     เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า             ดาดาว
จรูญจรัสรัศมีพราว                    พร่างพร้อย
ยามดึกนึกหนาวหนาว                เขนยแนบ แอบเอย
เย็นฉ่ำน้ำค้างย้อย                    เยือกฟ้าพาหนาว

ในการเดินทางครั้งนี้ท่านได้พาลูกๆ ไปด้วย จากสามชุกผ่านบ้านชัดหอมมาถึงบ้านทึง แวะพักอยู่หน้าบ้านสองตายายที่บ้านทึง ราว 5 คืน ปกติในการเดินทางถ้าเข้าที่ชุมชนท่านมักจะเข้าพักตามวัด แต่คราวที่บ้านทึงท่านไปเห็นพระเล่นตะกร้อ ชนไก่กัน ท่านเลยหมดศรัทธาแล้วจึงเลยลอยเรือมาอีกคุ้งน้ำหนึ่งแถวหน้าบ้านสองตายายนั่นเอง

และเมื่อต้องลาจากมา ท่านก็เล่าไว้ในนิราศสุพรรณและเอ่ยชื่อลูกชายไว้ด้วยว่า

     สงสารท่านสะอื้นโอ้            โศกา
พลั่งพลั่งหลั่งน้ำตา                  ตกด้วย
หนูหนุ่มชุ่มชลนา                    แลสลด หมดเอย
ร่ำว่าถ้าไม่ม้วย                       ไม่สิ้นถวิลหวัง

ระหว่างทางสุนทรภู่พบเรื่องประหลาดๆ บ้าง มหัศจรรย์บ้าง ตามรายทางและได้บันทึกไว้หลายเรื่อง เช่นไปช่วยชายหนุ่มที่พายเรือมาแล้วพลัดตกน้ำ เมื่อช่วยขึ้นมาได้พบว่าสิ้นใจเสียก่อนแล้ว แม่ของเขาตามมาเล่าว่าเขาตีแม่ตัวเองแล้วหนีมาตรงระหว่างต้นยางใหญ่ที่อยู่คู่สองฝั่งน้ำ น่าจะเป็นเจ้าพ่อยางพี่น้องลงโทษเอา

ยังมีเรื่องเจ้าที่เจ้าทางมาเข้าฝัน มีการทิ้งเรือขึ้นฝั่งเดินเท้า ไปพักที่ห้างกลางไร่พวกกะเหรี่ยง ได้เข้าไปหมู่บ้านกะเหรี่ยง แล้วยังได้มีการเลี้ยงดูกันเป็นการใหญ่ สุนทรภู่ยังได้ให้ลูกปัดแก่กะเหรี่ยงเป็นรางวัลให้ทุกคน แสดงว่าสุนทรภู่มีเตรียมไปด้วยแล้วแต่เริ่มเดินทาง ต่อมาก็ไปลุยดงเสือ ดงสมุนไพร ซึ่งได้พรรณนาไว้ดังนี้

     มหาสดำคำไก่ต้น               ทนดี
หางตะเฆ้เนระภูศรี                   ซ่มกุ้ง
ช้าเลือดเหมือดคนสมี              สมอพิเภก เอกเอย
ลมป่วนหวนหอมฟุ้ง                 เปลือกไม้ใบยา

ชื่อเหล่านี้เป็นสมุนไพรทั้งนั้น

เมื่อมาถึงหมู่บ้านละว้า คณะของสุนทรภู่ และเหล่าลูกๆ ก็ได้แสดงฝีมือต้มแกงให้พวกละว้าได้ชิมกันเอร็ดอร่อย

     ละว้าเถือเนื้อสดให้            ใส่กระบุง
หนุ่มแต่งแกงเผ็ดปรุง              เปราะพร้อม
กินค่าวเหล่ากะเหรี่ยงมุง           มองปาก อยากแฮ
เสร็จสัพพ์กับกะเหรี่ยงล้อม       แทะลิ้มชิมแกง
     ร้องอร่อยพลอยซดกลุ้ม     หนุ่มสาว
แม่ลูกมูกฟูมยาว                    ยืดย้อย
บดเนื้อเหงื่อโทรมพราว            พร่ำอร่อย น้อยฤา
กอดหนุ่มอุ้มหนูน้อย               น่าได้ไว้ผัว
     วานแกงแต่งพริกพร้อม       ล้อมดู
ครกใหญ่ใส่โขลกครู               ครอบให้
กวางป่าฮ่ากะทะหู                  ห้อมซด หมดแฮ
อิ่มอกยกมือไหว้                    แวดล้อมพร้อมเพรียง
     สาวสาวเหล่าลูกละว้า         น่าชม
ยิ้มย่องผ่องผิวผม                  ผูกเกล้า
คิ้วตาน่านวลสม                     เสมอหม่อมห้ามเอย
แค่งทู่หูเจาะเจ้า                     จึ่งต้องหมองศรี

ยังมีการเดินทางต่ออีกมากมาย สนุกสนานราวกับนิยายเผชิญไพรสมัยปัจจุบันทีเดียว ที่เล่ามานี้ยังไม่จบก็สนุกสนานมากแล้ว ท่านไปทดลองหรือไปทำอะไรอื่นอีกก็ลองไปหาอ่านกันอีกสักครั้งนะบรรดาแฟนานุแฟนทั้งหลาย

แม้การเดินทางครั้งนี้จะไม่สมหวัง แต่สุนทรภู่ก็ได้ไปจนถึงที่สุดของปลายทาง ในตอนจบท่านพรรณนาไว้ว่า

     โคลงแทนแผนที่ถุ้ง         เมืองสุพรรณ
เที่ยวเล่นเป็นสำคัญ              เขตคุ้ง
ไร่นาป่าปลายจัน                 ตประเทศ ทุเรศเอย
เขาท่ำลำธารถุ้ง                   ถิ่นละว้าป่าโขลง
     หวังไว้ให้ลูกเต้า             เหล่าหลาน
รู้เรื่องเปลืองป่วยการ            เกิดร้อน
อายุวัฒนะขนาน                 นี้พ่อ ขอเอย
แร่ปรอทยอดยากข้อน         คิดไว้ให้จำ
     โคลงไว้ใช้ชื่ออ้าง          ต่างนาม
นาคปริพันธ์ตาม                 กบเต้น
สระล้วนส่วนอักษรสาม        สกัดแคร่ แม่นา
ก้านต่อดอกบอกบ่เว้น          ว่าไว้ให้ฟัง

ตอนจบท่านได้บอกไว้ว่าแต่งเป็นกลบทหลากหลายแบบดังชื่อที่ให้ ไว้ตอนต่อไปเราจะมาแกะรอย ลักษณะคำ และโคลงกลบทของสุนทรภู่กัน.


เรียบเรียงจากหนังสือ สุนทรภู่ครูกวี, เปลื้อง ณ นคร, บริษัทสำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง, กรุงเทพ, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2542.

หรือจะเข้าไปตามอ่านที่ โอเคเนชั่น http://www.oknation.net/blog/tnitaram


อ่านประวัติสุนทรภู่

สุนทรภู่, วิกิพีเดีย http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B9%88

นิราศสุพรรณ, วิกิพีเดีย http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93

ใส่ความเห็น